The Great Gatsby by Francis Scott Fitzgeral

In my younger and more vulnerable years my father gave me some advice that I’ve been turning over in my mind ever since.

“Whenever you feel like criticizing any one,” he told me, “just remember that all the people in this world haven’t had the advantages that you’ve had.”

ในวัยเยาว์ของผม พ่อได้ให้คำแนะนำบางประการที่เปลี่ยนความคิดของผมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา "เวลาที่รู้สึกว่าอยากจะวิพากษ์วิจารณ์ใคร" พ่อกล่าว "จำไว้ว่าคนทุกคนบนโลกใบนี้ไม่ได้มีคุณลักษณะแบบเดียวกับที่ลูกมี"

เดอะ เกรท แกสต์บี้ หรือ แกตส์บี้ผู้ยิ่งใหญ่ บทประพันธ์อมตะโดยฟรานซิส สก็อต ฟิทซ์เจอรัลด์ กวีและนักเขียนชาวอเมริกันในยุค Jazz Age (1920s) เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ถูกเล่าโดยนิค คาราเวย์ซึ่งเปรียบได้ดังผู้สังเกตการณ์และนำมาบันทึกเป็นหนังสือเล่มนี้

นิคเป็นนักเขียนหนุ่มผู้เดินทางมุ่งหน้าสู่นิวยอร์คในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1922 ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าเป็นยุคศีลธรรมตกต่ำ ยุคแห่งคนตรีแจ๊ส ยุคแห่งการค้าของเถื่อน และยุคของการแสวงหาความฝันแบบอเมริกัน (American Dream)

ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงเนื้อเรื่องในหนังสือมากนัก แต่จะขอแสดงความคิดเห็นที่มีต่อหนังสือภายหลังอ่านจบ

ประโยคเปิดเรื่องของหนังสือเล่มนี้ที่นำมาแปลไว้ข้างบนเป็นทั้ง foreshadow และ irony ของเนื้อเรื่องในภายหลัง นิคเริ่มต้นเล่าว่าพ่อของเขาสอนให้ไม่ตัดสินคนอื่นเพราะคนทุกคนล้วนมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ทว่าเมื่ออ่านไปจนถึงราวกลางๆเรื่องและย้อนกลับมาที่ประโยคข้างต้นอีกครั้ง จะเห็นได้ว่านิค คาราเวย์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาตัดสินเดซี่และทอม บูคานัน โดยเลือกข้างเจย์ แกตส์บี้ ผู้ซึ่งเขายกย่องว่าเป็น 'The Great' ตามชื่อหนังสือ

เมื่อกล่าวถึงในแง่ของตัวละคร อาจกล่าวได้ว่าตัวละครในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนคือ romantic กับ realist เจย์ แกตส์บี้อยู่ในกลุ่มของ romantic ชายผู้บูชาความรักและทำทุกอย่างได้เพื่อเดซี่ หญิงสาวอันเป็นที่รัก เขากลายเป็นพ่อค้าของเถื่อนผู้ร่ำรวยมหาศาล จัดงานปาร์ตี้แสนอลังการเป็นประจำ ทั้งหมดก็เพราะมีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้พบกับเดซี่ในงานเลี้ยงที่เขาจัดขึ้นหลังจากที่ต้องพลัดพรากจากกันร่วม 5 ปี ส่วนเดซี่ หญิงสาวฝั่ง realist ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินและโลกแห่งความเป็นจริง เธอเป็นคนรักเก่าของแกตส์บี้ผู้เลือกที่จะไม่รอและแต่งงานไปกับมหาเศรญฐีผู้ร่ำรวยสูงส่งนาม ทอม บูคานัน

มีคำกล่าวว่านักเขียนมักจะถ่ายทอดเสี้ยวชีวิตส่วนหนึ่งของตนลงไปในงานเขียนไม่ว่าจะด้วยความรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในที่นี้ เอฟ สก็อต ฟิทซ์เจอรัล ได้ทิ้งวิญญาณส่วนหนึ่งของเขาไว้ในหนังสือเล่มนี้ ฟิทซ์เจอรัลเป็นบุตรคนเดียวในครอบครัวเศรษฐีแห่งมินิสโซต้า เคยเข้าเรียนที่พรินซ์ตันแต่เรียนไม่จบ เขามีชีวิตอยู่ในยุค 1920s ตามระยะเวลาเดียวกันกับบทประพันธ์เรื่องนี้ ชั่วชีวิต ฟิทซ์เจอรัล มีชีวิตอยู่ในงานเลี้ยงท่ามกลางความหรูหราอลังการและเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 44 ปีอย่างเดียวดายในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว จุดจบของฟิทซ์เจอรัล ช่างมีความคล้ายคลึงกับแกตส์บี้ ตัวเอกของเรื่อง ราวกับว่าเขาเห็นอนาคตของตัวเองและจารึกตัวเขาเองไว้เป็นตัวอักษรนามว่าเจย์ แกตส์บี้

หนังสือเรื่องนี้สะท้อนถึงแก่นแท้ของความรักและความลวง ความจอมปลอม โศกนาฏกรรมชีวิต เปลือกนอกและความฉาบฉวยของมนุษย์ อ่านจบแล้วรู้สึกเหมือนหัวใจโดนกระเทาะเปลือกนอกออก เปิดเปลือยถึงความเร้นลึกในจิตใจจนสั่นสะเทือนไปถึงวิญญาณ


0 comments:

Post a Comment

 
Multiverse Blog Design by Ipietoon